เทคนิคการปลูกทานตะวันงอก...ปลูกง่ายขายคล่อง
“ต้นอ่อนทานตะวัน”
หรือ Sunflower Sprout เป็นพืชผักที่สามารถนำมาบริโภคได้เหมือนกับผักทั่ว ๆ
ไป แต่ทว่ามีความโดดเด่นในเรื่องของคุณประโยชน์ เนื่องจากมีโปรตีนอยู่สูง
มีวิตามิน A,E สูง ช่วยบำรุงสายตา ผิวพรรณ มีวิตามินบี1 บี6 โอเมก้า 3,6,9
และยังลดโคเลสเตอรอล ทั้งยังเป็นอาหารที่ย่อยง่าย
ทำให้เป็นที่สนใจของผู้รักสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้ตลาดมีความต้องการสูงขึ้น
วัสดุ-อุปกรณ์ สำหรับการปลูกต้นอ่อนทานตะวัน
- ตะกร้าพลาสติก สี่เหลี่ยม ขนาดประมาณ 31x21x10 เซนติเมตร จำนวน 2
ตะกร้า (หากเป็นถาดเพาะเก่า ควรล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย
ตากแดดให้แห้งสนิท)
- กระดาษ ขนาด A4 จำนวน 1 แผ่น
- อุปกรณ์รดน้ำแบบฉีดฝอย หรือ กระบอกฉีดน้ำ
- ชั้นวางถาดเพาะ (ช่วยให้การจัดการดูแลง่ายและประหยัดพื้นที่ในการปลูก)
- วัสดุปลูก ควรเป็นวัสดุปลูกที่มีความเบา สามารถกักเก็บความชื้นได้ดี อย่างเช่น ขุยมะพร้าว ขี้เถ้าแกลบ
- เมล็ดพันธุ์ทานตะวัน (1 ตะกร้า ใช้ประมาณ 1 ขีด) ที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว
ควรเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ไม่ลีบเล็ก
หรือมีเศษเปลือกหรือวัสดุอื่นปลอมปนจำนวนมาก
ควรเป็นเมล็ดที่ไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดแมลงหรือป้องกันเชื้อรา
และมีลักษณะตรงตามพันธุ์ ซื้อจากแหล่งพันธุ์ที่เชื่อถือได้
วิธีการปลูกต้นอ่อนทานตะวัน
1. นำเมล็ดทานตะวันมาล้าง พร้อมคัดแยกเมล็ดที่ไม่ได้คุณภาพ รวมถึงเศษปลอมปนต่าง ๆ ทิ้งไป
2. แช่น้ำทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง (แช่ในน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาก็ได้)
3. นำขึ้นมาจากน้ำ ใส่ผ้าดิบบ่มไว้อีก 12 ชั่วโมง หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ
นำมาใส่กล่องพลาสติกปิดฝาทิ้งไว้ 12 ชั่วโมงเช่นกัน
วิธีนี้แก้ปัญหาผ้าห่อมักเกิดเชื้อรา
- การนำมาบ่มเมล็ด เพื่อให้เมล็ดงอกเป็นจุดขาว ๆ ก่อนที่นำไปปลูก หรือถ้ามั่นใจว่าเมล็ดมีคุณภาพดี ไม่ต้องบ่มก็ได้
4. นำกระดาษ A4 รองก้นตะกร้า
5. นำวัสดุปลูก ใส่ลงไป 3 แก้ว เกลี่ยให้เสมอกัน ซึ่งจะมีความสูงจากก้นตะกร้าประมาณ 1 เซนติเมตร
6. นำเมล็ดทานตะวันที่เตรียมไว้ มาโรยให้ทั่วตะกร้า ตะกร้าหนึ่งใช้เมล็ดประมาณ 1 ขีด ไม่ควรให้เมล็ดซ้อนทับกัน
7. นำวัสดุปลูกอีกประมาณ 1 แก้ว โรยด้านบนบาง ๆ
8. ค่อย ๆ รดน้ำ ด้วยกระบอกฉีดให้พอชุ่มแต่ไม่ถึงกับแฉะ
9. นำตะกร้าอีกใบมาทับไว้ด้านบน และนำไปวางไว้บนชั้น
- การใช้ตะกร้าอีกใบทับไว้ เพื่อรักษาความชื้น
ทั้งยังช่วยป้องกันมดหรือแมลงมากัดกินเมล็ดพันธุ์
ที่สำคัญเป็นการก่วยให้เมล็ดพันธุ์ในตะกร้าเติบโตขึ้นมาพร้อม ๆ กัน
และมีขนาดเท่ากัน
10. รดน้ำเช้า เย็น แต่ถ้าอากาศร้อนจัด หรือมีลมพัดแรง ซึ่งจะทำให้วัสดุปลูกแห้งเร็ว ให้เพิ่มการรดน้ำขึ้นอีก 1 ครั้ง
- การรดน้ำควรรดเป็นฝอย ๆ อย่ารดแรง
เพราะทำให้เมล็ดพันธุ์และวัสดุปลูกกระจาย ที่สำคัญรดแค่พอชุ่ม ไม่ให้แฉะ
และห้ามให้มีน้ำขังในตะกร้าโดยเด็ดขาด
11. ประมาณวันที่ 3-4 วัน ต้นอ่อนดันขึ้นเสมอกับปากตะกร้า ก็ให้นำตะกร้าด้านบนออก แล้วดูแลตามปกติ
12. หลังจากปลูกประมาณ 7 วัน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้
หรือดูได้จากขนาดของต้นจะสูงประมาณ 1 คืบ และให้มีใบแตกออกมาแค่ 2
ใบเท่านั้น หากแตกใบที่ 3-4 จะแก่เกินไป รับประทานไม่อร่อย
การเก็บเกี่ยว
- ใช้มือรวบโน้มต้นอ่อนทานตะวันลงไป แล้วคัทเตอร์ตัดบริเวณเหนือดิน
พยายามทำให้เบามือที่สุดต้นอ่อนจะได้ไม่ช้ำ ไม่แนะนำให้ใช้กรรไกร
เพราะทำให้รอยตัดช้ำและเน่าเสียได้ง่าย ที่สำคัญหากปลูกจำนวนมาก
อาจทำให้มือเจ็บได้
- จากนั้นนำมาล้างด้วยน้ำสะอาด 3 ครั้ง พักไว้ในตะกร้าให้สะเด็ดน้ำ ก่อนบรรจุถุงจำหน่าย หรือเก็บไว้รับประทาน
ข้อมูล : เกษตรกรก้าวหน้า
Thursday, March 10, 2016
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment