เปลี่ยนจากความโกรธ เป็นความสงสารเถิด
ในหน้าที่ความเป็นครู นอกจากภาระหน้าที่ในการสอนในรายวิชาที่ตนมีความรู้ความสามารถแล้ว ยังมีอีกหน้าที่คือในการสอนให้นักเรียนเป็นคนดี
และเมื่อได้เห็น ว่านักเรียนกระทำผิด คิดผิด มีทัศนะคติเชิงลบ ในความเป็นครู แล้วก็ควรจะเข้าไป ตักเตือนแนะนำ หรือจะเรียกว่าอบรมสั่งสอน นั่นเอง แต่ถ้านักเรียนที่เข้าไปตักเตือนแนะนำนั้นมีพฤติกรรมเชิงลบ โต้แย้งไม่ยอมรับ ตอบโต้ ครูควรหยุด และไม่โกรธ ระงับความโกรธ เพราะพระพุทธเจ้าเคยสอนไว้ว่า บุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก บางพวกสอนได้ บางพวกสอนไม่ได้ เปรียบเสมือนบัว ๔ เหล่า อันได้แก่
พวกที่ 1 เมื่อได้รับการอบรมสั่งสอน ก็สามารถรับรู้ และเข้าใจได้ในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อถูกแสงอาทิตย์ก็จะเบ่งบานทันที
พวกที่ 2 เป็นพวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อได้รับการอบรมสั่งสอน แล้วคิดตาม และได้รับการอบรมเพิ่มเติม ก็จะสามารถรับรู้และเข้าใจได้ในเวลาไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป
พวกที่ 3 เป็นพวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่มีความเห็นชอบ(สัมมาทิฏฐิ) เมื่อได้รับการอบรมอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อ ในที่สุดก็จะเข้าใจในไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
พวกที่ 4 เป็นพวกที่ไร้สติปัญญา และยังมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) แม้จะได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างไร ก็ยังจะไม่พัฒนาตนเอง ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน
เมื่อได้รู้อย่างนี้ จึงไม่ควรโกรธ แต่ต้องเปลี่ยนความโกรธนั้น เป็นความสงสาร สงสารนักเรียนผู้นั้นที่จะต้องสูญเสีย เสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้ เสียโอกาสที่จะได้รับความเจริญก้าวหน้า เข้ามาสู่ชีวิต เสียโอกาสที่จะได้พัฒนาตนเอง เสียโอกาสที่จะได้พิจารณาตนเอง ยิ่งถ้าผู้นั้น ไม่รู้ว่าตนเองมีข้อเสีย ข้อผิดตรงไหนด้วยแล้ว ผู้นั้นก็จะยิ่งเสียโอกาสที่จะได้ปรับปรุงตนเอง
ที่เขียนบทความนี้ ไม่ได้ มีจุดมุ่งหมายให้ผู้อ่าน ได้คล้อยตาม เพียงแต่เขียนเพื่อกลั่นความคิด ความรู้สึก ให้ตกผลึกออกมาเป็นข้อความ และเขียนเพื่อเตือนตนเองให้มีสติ ไม่ให้ตกเป็นทาสของความโกรธ ก็เท่านั้นเอง
Wednesday, September 7, 2011
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment